มาร์เก็ตบัซซ เผยผลสำรวจการบริโภคสื่อของคนไทยในสถานการณ์ Covid-19 แนะนักการตลาดต้องปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง

ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ที่ประเทศมีมาตรการล็อกดาวน์อันเนื่องมาจากการระบาดของไวรัสโคโรนา ได้ส่งผลต่อการบริโภคสื่อของคนไทยเป็นอย่างมาก

ในช่วงปี 2020 เราได้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในการบริโภคสื่อของผู้คน ยกตัวอย่างความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด เช่น โรงภาพยนตร์ที่ต้องปิดชั่วคราวด้วยมาตรการล็อกดาวน์ รวมถึงสื่อโฆษณากลางแจ้ง ต่างได้รับผลกระทบหนักด้วยเช่นกัน เนื่องจากคนส่วนใหญ่ไม่อยากออกนอกบ้าน

เราเห็นการเปลี่ยนแปลงของการบริโภคสื่อที่ถูกขับเคลื่อนโดยการปรับตัวของคนเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบัน โดยใช้สื่อเพื่อช่วยในการดำเนินชีวิตในรูปแบบใหม่ หลายคนไม่สามารถไปทำงานได้ตามปกติ หรือต้องทำงานที่บ้าน นอกจากนี้ การใช้เวลาพักผ่อนยังต้องอยู่แต่เพียงในบ้าน เนื่องจากธุรกิจภาคบริการและธุรกิจค้าปลีกที่ไม่ใช่สินค้าจำเป็น ถูกบังคับให้ปิดชั่วคราว

ที่ผ่านมา การบริโภคสื่อก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงจากรูปแบบเดิมสู่ออนไลน์มาสักระยะหนึ่งแล้ว แต่จากสถานการณ์โควิด-19 กลับยิ่งเร่งให้มีการปรับเปลี่ยนเร็วขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการช้อปปิ้งผ่านระบบอีคอมเมิร์ซ สั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชั่นเดลิเวอรี่ และรับชมคอนเทนท์วิดีโอแบบสตรีมมิ่งมากยิ่งขึ้น

ในช่วงกลางปี 2021 มาร์เก็ตบัซซได้ทำการศึกษาถึงพฤติกรรมการใช้สื่อของคนไทย จำนวน 700 คนทั่วประเทศ เพื่อยืนยันข้อสงสัยมากมายเกี่ยวกับสื่อในช่องทางต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 รวมถึงผลการวิจัยเพิ่มเติมที่มีการเปลี่ยนแปลงหากเทียบกับปี 2020 โดยผู้ถูกสำรวจดังกล่าวได้บันทึกข้อมูลการใช้สื่อของเขาตลอดหนึ่งสัปดาห์ในช่วงเวลาต่างๆ คือ ช่วงเช้า บ่ายและเย็น ซึ่งรวมถึงวันธรรมดาและวันหยุดสุดสัปดาห์ โดยผลการสำรวจพบว่า ช่องทางการใช้สื่อที่คนไทยนิยมใช้สูงสุด ได้แก่ การใช้สื่อโซเชียลมีเดีย สูงถึง 81%, การใช้อินเตอร์เนต 65%, การรับชมวีดีโอสตรีมมิ่งคอนเทนต์ 50% และทีวี 47%

มร.แกรนท์ บาร์โทลี่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มาร์เก็ตบัซซ (Marketbuzzz) ให้ความเห็นในเรื่องการใช้สื่อของคนไทยว่า เมื่อไม่มีกิจกรรมอะไรให้ทำนอกบ้าน จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าผู้คนเริ่มมองหากิจกรรมเพื่อใช้เวลาที่มีอยู่ และหันไปบริโภคสื่ออื่นๆ เพื่อความบันเทิง และสร้างความใกล้ชิดกับครอบครัวหรือเพื่อน หรือการช้อปปิ้ง เรียนรู้ทักษะใหม่ และสร้างงานอดิเรกใหม่ๆ รวมถึงติดตามข่าวสารล่าสุด

มร.แกรนท์ กล่าวเสริมว่า สิ่งที่น่าสนใจมากไปกว่าการบริโภคสื่อนั้นคือ เครื่องมือที่ใช้ในการเข้าถึงสื่อต่างๆ ซึ่งโทรศัพท์มือถือได้รับความนิยมสูงสุด ถึงแม้ช่วงเวลานี้จะเป็นช่วงที่หลายคนใช้เวลาอยู่ที่บ้านก็ตาม การใช้สื่อโซเชียลมีเดีย ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการเชื่อมต่อกันทางสังคมมากขึ้นกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นการใช้ Line ที่มีการใช้งานสูงถึง 86% ตามมาด้วย Facebook อยู่ที่ 79% เพื่อสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนๆ และขยายคนรู้จักในแพลตฟอร์มในวงกว้างได้มากขึ้น

สำหรับผู้คนที่ชอบการท่องอินเตอร์เน็ต ส่วนมากจะใช้เวลาในการค้นหาเรื่องราวที่สนใจ การหาข้อมูลต่างๆ ในเว็บไซต์และการช้อปปิ้ง ซึ่งวิดีโอสตรีมมิ่ง ยูทูป ก็ยังเป็นสื่อที่ครองใจผู้ชมตามมาด้วย ไลน์ทีวี เน็ตฟลิกซ์ และวิว ขณะที่ผู้ที่ชื่นชอบดนตรีและเสียงเพลง ยูทูปมิวสิค และจูกซ์ ยังได้รับนิยมในสองอันดับแรก ตามด้วยสปอติฟาย และแอปเปิล มิวสิค

ขณะเดียวกัน จากผลสำรวจเห็นได้ว่าอีคอมเมิร์ซเป็นอีกแพลตฟอร์มที่น่าจับตามองในช่วงเวลานี้ เนื่องจากได้รับความนิยมสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากผู้ใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นเพียงการแวะเข้ามาชมสินค้าหรือเข้ามาซื้อสินค้า โดยในปีนี้ อีคอมเมิร์ซ มีอัตราการใช้งานอยู่ที่ 36% ซึ่งสูงกว่าปีที่ผ่านมาถึง 22%

ในหนึ่งปีที่ผ่านมา การวิจัยพบว่าคนไทยเข้าถึงและเปิดรับสื่อใหม่ๆ อย่างรวดเร็ว ซึ่งมีจำนวนที่มากขึ้นกว่าในอดีต มร.แกรนท์ กล่าวเสริมว่า เราไม่ทราบว่าตัวกำหนดการใช้งานสื่อเต็มรูปแบบในช่วงโควิด-19 คืออะไร แต่สถานการณ์ทำให้คาดการณ์ได้ว่า คนไทยมีความพร้อมที่จะปรับตัวให้เข้ากับวิถีชีวิตจากเดิม พฤติกรรมการใช้งานยังคงไม่เปลี่ยนแปลง เพียงแต่จะเปลี่ยนเฉพาะจำนวนเวลาที่เข้าใช้งานเท่านั้น

จากข้อมูลดังกล่าว จะเห็นได้ถึงความเปลี่ยนแปลงของคนไทยที่เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการใช้สื่อดิจิทัลและสื่อบนมือถือมากยิ่งขึ้น แสดงให้เห็นว่านักการตลาดจำเป็นต้องมีการปรับตัว มีวิธีคิดใหม่ๆ และเลือกใช้กลยุทธ์และสื่อการตลาดอย่างเหมาะสม เพื่อให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายหลักและเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด