< !--Google Tag Manager-- >

ผลสำรวจมาร์เก็ตบัซซ เผยโควิดรอบใหม่ ส่งผลเดือนแรกของปี “คนไทยไม่มีความสุข 75%”

ผลสำรวจมาร์เก็ตบัซซ เผยการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ลดทอนความเชื่อมั่นและการใช้จ่ายผู้บริโภคลดลง ส่งผลให้เดือนแรกของปี 2564 “คนไทยไม่มีความสุข 75%”

วันที่ 22 ก.พ.2564 นาย แกรนท์ เบอร์โทลี่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มาร์เก็ตบัซซ จำกัด เปิดเผยถึงผลการสำรวจความรู้สึกของคนไทยที่มีต่อการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ และพฤติกรรมการใช้จ่ายที่เปลี่ยนแปลงหลังโควิด-19 ในช่วงมกราคม 2564 ซึ่งครอบคลุมหัวข้อที่สำคัญต่างๆ โดยได้สำรวจกลุ่มตัวอย่างคนไทยทั่วประเทศ จำนวน 1,600 คน

โดยพบว่าความรู้สึกของคนไทยที่มีต่อสถานการณ์เป็นบวกลดลง เฉพาะในเดือน ม.ค.2564 คนไทยไม่มีความสุขในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่ ถึง 75% ซึ่งสูงกว่าช่วงการระบาดโควิด-19 ระลอกแรก ที่ผลสำรวจในช่วงเดือน เม.ย. – มิ.ย.2563 พบคนไทยไม่มีความสุข 71%, 62% และ 51% ตามลำดับ

นอกจากนี้ ยังพบว่าในเดือน ม.ค. 2564 ผู้บริโภคมีการใช้จ่ายลดลง เห็นได้จากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากมาตรการป้องกันและควบคุมโรค รวมถึงการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและพฤติกรรมของผู้บริโภคด้วย

ในช่วงของการใช้มาตรการป้องกันและควบคุมโรค ผลการศึกษาแรกนั้นแสดงให้เห็นชัดเจนว่า สินค้าบางประเภทที่ผู้บริโภคเคยมีการใช้จ่ายน้อย กลับเพิ่มมากขึ้น เช่น สินค้าทำความสะอาดบ้าน อาหารสด อาหารแช่แข็ง อาหารกระป๋อง ผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนตัว ผลิตภัณฑ์ยาและวิตามิน ซึ่งไม่น่าแปลกใจเพราะผู้บริโภคให้ความสำคัญกับสุขอนามัยและการทำความสะอาดในครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น และใช้เวลาที่บ้านมากยิ่งขึ้น

ขณะที่กลุ่มสินค้าบางประเภทได้รับผลกระทบหนักจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่ส่งผลให้การจับจ่ายน้อยลงในช่วงเดือน ม.ค.2564 คือ การชอปปิ้งที่ห้างสรรพสินค้า, สินค้าแฟชัน, การรับประทานบุฟเฟ่ต์ และร้านอาหารนอกบ้าน อาหารดิบ เช่น ซูชิและสลัด กาแฟและชานม การซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ เช่น ทีวี เครื่องปรับอากาศ หรือสินค้าฟุ่มเฟือย มีตัวเลขที่ลดลงเช่นเดียวกับอุปกรณ์กีฬา รวมถึงสินค้าประเภทแอลกอฮอลล์

“นักเศรษฐศาสตร์ให้ความสนใจกับการวัดความเชื่อมั่นของผู้บริโภค เพราะเป็นสิ่งที่สามารถนำไปคาดการณ์ดัชนีทางเศรษฐกิจ ที่ผ่านมาข้อมูลของความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในหนึ่งเดือน สามารถใช้ทำนายทุกอย่างได้ตั้งแต่อัตราการจ้างงานไปจนถึงการใช้จ่ายในหลายเดือนข้างหน้า เพื่อคาดการณ์ผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้น จากปัจจัยหลายๆ อย่าง สินค้าบางประเภทมีตัวเลขการใช้จ่ายลดลงอย่างที่คาดการณ์ไว้ และใกล้เคียงกับสิ่งที่เราเคยประสบจากการระบาดรอบแรก อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญ คือคนไทยจะรับมืออย่างไรในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ซึ่งจะเป็นตัวชี้วัดว่าจะประสบปัญหาทางเศรษฐกิจต่อไปในอนาคตหรือไม่” แกรนท์ เบอร์โทลี่ กล่าว

แกรนท์ เบอร์โทลี่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มาร์เก็ตบัซซ จำกัด

การเริ่มต้นของปีเหมือนเพิ่งจะผ่านไป การระบาดของโรคสร้างผลกระทบอย่างมากมายให้กับทุกๆ คน สิ่งสำคัญสำหรับประเทศคือการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และที่สำคัญยิ่งกว่าในปัจจุบันนี้คือ การจับตาดูพฤติกรรมและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค เพื่อคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงและแนวโน้มในการสร้างความยั่งยืนและเอาชนะการระบาดของโรคนี้ไปด้วยต่อไป

อย่างไรก็ดี กว่าหนึ่งปีที่ผ่านมา ตัวเลขผู้ติดเชื้อโคโรนาไวรัสในประเทศไทย นับว่ามีจำนวนไม่สูงนักเมื่อเทียบกับตัวเลขผู้ติดเชื้อของประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ประเทศไทยต้องเผชิญกับความท้าทายอีกครั้งกับการระบาดระลอกใหม่ในช่วงปลายปี 2563 ทำให้มีมาตรการป้องกันและควบคุมโรคในประเทศที่เข้มข้นอีกครั้ง

ประเทศไทยดำเนินการอย่างรวดเร็วในการรับมือกับโควิด-19 และขณะนี้ได้เห็นการผ่อนปรนมาตรการป้องกันและควบคุมโรคต่างๆ เนื่องจากการระบาดของโรคมีแนวโน้มลดลง ไม่น่าแปลกใจที่ความเชื่อมั่นของคนไทยในเดือน ม.ค. อยู่ในระดับต่ำและต่ำกว่าที่ได้เผชิญกับโควิด-19 ในระลอกแรก เนื่องจากผู้คนต่างคาดหวังว่าสถานการณ์จะเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้นในปีใหม่ แต่เมื่อการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่เกิดขึ้นอีกครั้งในเดือน ม.ค. กลับเหมือนจะลดทอนการมองโลกในแง่ดีที่ได้หวังไว้กับปีใหม่ลงไปอีก

ทั้งนี้ การวิเคราะห์ความเชื่อมั่นของคนไทย เป็นมาตรการสำคัญที่บ่งบอกว่าประเทศและประชาชนมีความแข็งแกร่งเพียงใด สาเหตุที่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคมีความสำคัญนั้นเป็นเพราะว่า การบริโภคในครัวเรือนที่คนไทยใช้จ่ายไปกับสินค้าและบริการ เช่น อาหาร รถยนต์ ไปจนถึงการดูแลตัวเองมากน้อยแค่ไหนนั้นจะส่งผลต่อเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก

ที่มา: https://workpointtoday.com/marketbuzzz-survey-th-covid19-new-wave/